วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

แนวทางการส่งเสริมจิตสาธารณะ
                                                                                                   โดยนางสาวลำเฑียร  ชนะสุวรรณ์

            
เป็นที่ประจักษ์ว่าความเจริญรุ่งเรืองทางด้านวัตถุในปัจจุบัน เป็นสาเหตุที่ทำให้สังคมโดยทั่วไป มีค่านิยมที่ให้ความสำคัญ     ในการแสวงหาเงินทอง แสวงหาอำนาจ บารมีมากกว่าที่จะให้ความสำคัญทางด้านจิตใจ  สังคมในปัจจุบันจึงกลับเสื่อมโทรมลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ปัญหาต่าง ๆ มีมากมาย การปลูกฝังความสำนึก ให้กับบุคคล เพื่อให้มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม จึงควรบังเกิดขึ้นในสังคม ด้วยเหตุนี้ในปัจจุบัน จึงมีการกล่าวถึงคำว่า  จิตสาธารณะมากขึ้น เพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสาธารณะมากกว่าตนเอง นั่นหมายถึงว่า ทุกคนต้อง มีการให้  มากกว่า  การรับ  เพราะสิ่งเหล่านี้ ถ้าสามารถปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนได้ตระหนัก  สังคมย่อมได้รับแต่ความสุขอย่างแน่นอน คำว่า จิตสาธารณะ จึงมีความสำคัญต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์โดยส่วนร่วมการปลูกฝังความสำนึกกับบุคคลต่าง ๆ ให้มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมหรือสาธารณะจะเป็นการสร้างคุณธรรม จริยธรรม ให้เกิดขึ้นกับบุคคลโดยทั่วไป โดยเฉพาะ เด็กและเยาวชน รวมทั้ง ประชาชนทั่วไป  สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากภายในกายของคน   "จิตสาธารณะ" มีความสำคัญในการปลูกจิตสำนึกให้ผู้คนรู้จัก การเสียสละ การร่วมแรงร่วมใจ  ร่วมมือในการทำประโยชน์ เพื่อสังคมและส่วนรวม ดังนั้นการสร้างนักสวัสดิการสังคมรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลูกฝังจิตสำนึกให้มีจิตสาธารณะ อันเป็นส่วนสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งต่อการให้บริการสวัสดิการสังคมอย่างยั่งยืนจิตสาธารณะ (Public mind) หมายถึง จิตสำนึกเพื่อส่วนรวม เพราะคำว่าสาธารณะคือ สิ่งที่มิได้เป็นของผู้หนึ่งผู้ใด จิตสาธารณะจึงเป็นความรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของในสิ่งที่เป็นสาธารณะ ในสิทธิและหน้าที่ที่จะดูแล  และบำรุงรักษาร่วมกัน เช่น การช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยการไม่ทิ้งขยะลงในแหล่งน้ำ การดูแลรักษาสาธารณะสมบัติ เช่นโทรศัพท์สาธารณะ หลอดไฟที่ให้แสงสว่างตามถนนหนทาง แม้แต่การประหยัดน้ำประปา หรือไฟฟ้าที่เป็นของส่วนรวม โดยให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าตลอดจนช่วยดูแลรักษาให้ความช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก หรือผู้ที่ร้องขอความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ ตลอดจนร่วมมือกระทำเพื่อช่วยกันแก้ปัญหา แต่ต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย เพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม นอกจากนี้ จิตสาธารณะยังมีความหมายครอบคลุมดังต่อไปนี้ (อารีนา เลิศแสนพร, 2555 )
                1.  จิตสาธารณะคือ จิตสำนึกเพื่อส่วนรวม คำว่า จิตสำนึก ในปทานุกรม ราชบัณฑิตสถาน 2538 ให้ความหมายไว้ว่า เป็นภาวะที่จิตตื่นและรู้สึกตัว สามารถตอบสนองสิ่งเร้าจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือรูป รส กลิ่น เสียง และสิ่งสัมผัสได้ การตระหนักรู้ และคำนึงถึงส่วนรวมร่วมกัน  การคำนึงถึงผู้อื่นที่ร่วมสัมพันธ์เป็นกลุ่มเดียวกัน
                2. จิตสาธารณะ คือจิตอาสา ที่แสดงออกมาในรูปของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจเพื่อส่วนรวม โดยการแสดงออกด้วยการอาสาไม่มีใครบังคับ
                3. จิตสาธารณะ คือ การสำนึกสาธารณะ ซึ่งหมายถึงการที่บุคคลตระหนักรู้และคำนึงถึงประโยชน์สุขของส่วนรวมและสังคม เห็นคุณค่าของการเอาใจใส่ดูแลรักษาสิ่งต่างๆที่เป็นของส่วนรวม
                4. จิตสาธารณะคือ จิตบริการที่เกี่ยวกับการคิดและการปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือผู้อื่น เป็นการประพฤติปฏิบัติที่มุ่งความสุขของผู้อื่นที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความตั้งใจดีและเจตนาดี
                5. จิตสาธารณะคือจิตสำนึกทางสังคมที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้อธิบายว่าเป็นการรู้จักเอาใจใส่เป็นธุระและเข้าร่วมในเรื่องของส่วนรวมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ มีความสำนึกและยึดมั่นในระบบคุณธรรม และจริยธรรมที่ดีงาม ละอายต่อสิ่งผิดเน้นความเรียบร้อย ประหยัด และมีความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ฐานคิดของจิตสาธารณะที่ลึกซึ้งอีกระดับหนึ่งคือ ความรับผิดชอบต่อสังคม ในการช่วยเหลือสังคม ไม่ทำให้ผู้อื่นหรือสังคมเดือดร้อนได้รับความ เสียหาย และมีระดับของความรับผิดชอบเริ่มตั้งแต่    ประการแรก ความรับผิดชอบต่อครอบครัว อาทิ  เชื่อฟังพ่อแม่ ช่วยเหลืองานบ้าน ไม่ทำให้พ่อแม่เสียใจ   ประการที่สอง  มีความรับผิดชอบต่อโรงเรียน ครูอาจารย์ เช่น ตั้งใจเล่าเรียน เชื่อฟังคำสั่งสอนของครูอาจารย์ ปฏิบัติตามกฎระเบียบวินัยของโรงเรียน ช่วยรักษาทรัพย์สมบัติของโรงเรียน   ประการที่สาม   มีความรับผิดชอบต่อสังคม ช่วยเหลือสังคม  และได้มีการกำหนดลักษณะของคำว่า จิตสาธารณะ ไว้อย่างหลากหลาย ทั้งคำที่ใช้ในภาษาไทย เช่น จิตสาธารณะ สำนึกสาธารณะ และจิตสำนึกสาธารณะ เป็นต้น และคำที่ใช้ในภาษาอังกฤษ เช่น Public Consciousness หรือ Public Mind โดยสามารถสรุปความหมายของจิตสาธารณะได้ว่า หมายถึง คุณลักษณะทางจิตใจของบุคคลเกี่ยวกับการมองเห็นคุณค่า หรือการให้คุณค่าแก่การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นสิ่งสาธารณะที่ไม่มีผู้ใดผู้ผู้หนึ่งเป็นเจ้าของ หรือเป็นสิ่งที่คนในสังคมเป็นเจ้าของร่วมกัน เป็นสิ่งที่สามารถสังเกตได้จากความรู้สึกนึกคิด หรือการกระทำที่แสดงออกมา โดยพิจารณาจากความรู้ความเข้าใจหรือพฤติกรรมที่แสดงออกใน 3 องค์ประกอบ ตามนิยามความหมายจิตสาธารณะของชาย โพธิสิตา (2540 : 14 – 15) และลัดดาวัลย์ เกษมเนตร (2546 : 2-3) ประเวศ วสี ()  ดังนี้
              องค์ประกอบที่ 1 คือ การหลีกเลี่ยงการใช้หรือการกระทำที่จะทำให้เกิดความชำรุดเสียหายต่อส่วนรวมที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันของกลุ่ม กำหนดตัวชี้วัดจาก
              1. การดูแลรักษาของส่วนรวม ใช้ของส่วนรวมแล้วเก็บเข้าที่
           2. ลักษณะการใช้ของส่วนรวม รู้จักใช้ของส่วนรวมอย่างประหยัดและทะนุถนอม
องค์ประกอบที่ 2 คือ การถือเป็นหน้าที่ที่จะมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาของส่วนรวมในวิสัยที่ตนสามารถทำได้ กำหนดตัวชี้วัดจาก
                1. การทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเพื่อส่วนรวม
                                2. การรับอาสาที่จะทำบางอย่างเพื่อส่วนรวม
              องค์ประกอบที่ 3 คือ การเคารพสิทธิในการใช้ของส่วนรวมที่เป็นประโยชน์ร่วมกันของกลุ่ม กำหนดตัวชี้วัดจาก
              1. การไม่ยึดครองของส่วนรวมนั้นมาเป็นของตนเอง
              2. การเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้สามารถใช้ของส่วนรวมนั้น

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดจิตสาธารณะ
                การมีจิตสาธารณะนั้น เป็นสิ่งที่เกิดตามวิถีการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคล สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน และสังคม ซึ่งไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และสังคม สัญจร (2543 : 13) สรุปว่า จิตสาธารณะ หรือ จิตสำนึกทางสังคม อยู่ภายใต้อิทธิพลของปัจจัยแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก ดังนี้
                ปัจจัยภายนอก เป็นปัจจัยที่เกี่ยวกับภาวะทางสัมพันธภาพของมนุษย์ ภาวะทางสังคมเป็นภาวะที่ลึกซึ้งที่มีผลต่อจิตสำนึกด้านต่าง ๆ ของมนุษย์ เป็นภาวะที่ได้อบรมกล่อมเกลา และสะสมอยู่ในส่วนของการรับรู้ทีละเล็กทีละน้อย ทำให้เกิดสำนึกที่มีรูปแบบหลากหลาย ภาวะแวดล้อมทางสังคมนี้เริ่มตั้งแต่พ่อแม่ พี่น้อง ญาติ เพื่อน ครู สื่อมวลชน บุคคลทั่วไป ตลอดจนระดับองค์กร วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ กฎหมาย ศาสนา รวมทั้งภาวะแวดล้อมด้านสื่อสารมวลชน และส่วนที่กำกับสำนึกของบุคคล คือ การได้สัมผัสจากการใช้ชีวิตที่มีพลังต่อการเกิดสำนึก อาทิ การไปโรงเรียน ไปทำงาน ดูละคร ฟังผู้คนสนทนากัน เป็นต้น
                ปัจจัยภายใน สำนึกที่เกิดจากปัจจัยภายใน หมายถึง การคิดวิเคราะห์ของแต่ละบุคคลในการพิจารณาตัดสินคุณค่าและความดีงาม ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมและการประพฤติปฏิบัติโดยเฉพาะการปฏิบัติทางจิตใจ เพื่อขัดเกลาตนเองให้เป็นไปทางใดทางหนึ่ง โดยเกิดจากการรับรู้จากการเรียนรู้ การมองเห็น การคิด แล้วนำมาพิจารณาเพื่อตัดสินใจว่าต้องการสร้างสำนึกแบบใด ก็จะมีการฝึกฝนและสร้างสมสำนึกเหล่านั้น
                การเกิดจิตสำนึกไม่สามารถสรุปแยกแยะได้ว่าเกิดจากปัจจัยภายในหรือภายนอก เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะทุกสรรพสิ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน จิตสำนึกที่มาจากภายนอกเป็นการเข้ามาโดยธรรมชาติ กระทบต่อความรู้สึกของบุคคล แล้วกลายเป็นจิตสำนึกโดยธรรมชาติ และมักไม่รู้ตัว แต่จิตสำนึกที่เกิดจากปัจจัยภายในเป็นความจงใจเลือกสรร บุคคล ระลึกรู้ตนเองเป็นอย่างดี เป็นสำนึกที่สร้างขึ้นเอง ระหว่างปัจจัยภายใน และภายนอก เป็นปฏิสัมพันธ์ที่มีความต่อเนื่องกัน ดังนั้น การพัฒนาจิตสำนึกจึงต้องกระทำควบคู่กันไปทั้งปัจจัยภายในและภายนอก



ความสำคัญของการมีจิตสาธารณะ
           การที่คนมาอยู่รวมกันเป็นสังคม ย่อมต้องมีความสัมพันธ์ในรูปแบบการพึ่งพากัน การที่คนในสังคมขาดจิตสาธารณะนั่น จะมีผลกระทบต่อบุคคล ครอบครัว องค์กร อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อชุมชน ระดับประเทศ และระดับโลก ดังนี้ (ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และสังคม สัญจร. 2543 : 22 – 29)
ผลกระทบต่อบุคคล ทำให้เกิดปัญหา คือ
              1.   สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเอง
              2.   สร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น
               ผลกระทบระดับครอบครัว ทำให้เกิดปัญหา คือ
              1.   ความสามัคคีในครอบครัวลดน้อยลง              2.   การแก่งแย่ง ทะเลาะเบาะแว้งภายในครอบครัว               ผลกระทบระดับองค์กร ทำให้เกิดปัญหา
              1.   การแบ่งพรรคแบ่งพวกภายในองค์กร              2.   ความเห็นแก่ตัว แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น              3.   การเบียดเบียนสมบัติขององค์กรเป็นสมบัติส่วนตน              4.   องค์กรไม่ก้าวหน้า ประสิทธิภาพและคุณภาพของงานลดลง
              ในระดับชุมชน ทำให้เกิดปัญหา คือ
              1.   ชุมชนอ่อนแอ ขาดการพัฒนา เพราะต่างคนต่างอยู่ สภาพชุมชน มีสภาพ เช่นไรก็ยังคงเป็นเช่นนั้น ไม่เกิดการพัฒนา และยิ่งนานไปก็มีแต่เสื่อมทรุดลง
              2.   อาชญากรรมในชุมชนอยู่ในระดับสูง
              3.   ขาดศูนย์รวมจิตใจ ขาดผู้นำที่นำไปสู่การแก้ปัญหา เพราะคนในชุมชนมองปัญหาของตัวเองเป็นเรื่องใหญ่ ขาดคนอาสานำพาการพัฒนา เพราะกลัวเสียทรัพย์กลัวเสียเวลา หรือกลัวเป็นที่ครหาจากบุคคลอื่น
              ในระดับชาติถ้าบุคคลในชาติขาดจิตสาธารณะจะทำให้เกิด
              1.   วิกฤตการณ์ภายในประเทศบ่อยครั้ง และแก้ปัญหาไม่ได้ เกิดการเบียดเบียนทำลายทรัพยากรและสมบัติที่เป็นของส่วนรวม
              2.   ประเทศชาติอยู่ในสภาพล้าหลัง เนื่องจากขาดพลังของคนในสังคม เมื่อผู้นำประเทศนำมาตรการใดออกมาใช้ ก็จะไม่ได้ผลเพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน
              3.   เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวก เกิดการแก่งแย่งแข่งขัน เห็นแก่ประโยชน์กลุ่มของตนและพวกพ้อง เกิดการทุจริตคอรัปชั่น
           
ในระดับโลกถ้าบุคคลขาดจิตสาธารณะ จะทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบระหว่างประเทศ ทำให้เกิดปัญหาในระดับต่างๆ ดังนี้
              1. เกิดการสะสมอาวุธกันระหว่างประเทศ เพราะขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน กลัวประเทศอื่นจะโจมตี จึงต้องมีอาวุธที่รุนแรง มีอานุภาพในการทำลายสูงไว้ในครอบครอง เพื่อข่มขู่ประเทศอื่น และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็มักมีแนวโน้มในการใช้ความรุนแรงของแสนยานุภาพทาง การสงคราม ในการตัดสินปัญหา
              2. เกิดการกลั่นแกล้ง แก่งแย่งหรือครอบงำทางการค้าระหว่างประเทศ พยายามทุกวิถีทาง เพื่อให้เกิดการได้เปรียบทางการค้าทำให้ประเทศด้อยกว่าขาดโอกาสในการพัฒนาประเทศของตน
              3. เกิดการรังเกียจเหยียดหยามคนต่างเชื้อชาติ ต่างเผ่าพันธุ์ หรือต่างท้องถิ่น มองชนชาติ  อื่น ๆ เผ่าพันธุ์อื่นว่ามีความเจริญหรือมีศักดิ์ศรีด้อยกว่าเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ของตนเอง ดูถูกหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อชาติอื่น
                จากความสำคัญของการมีจิตสาธารณะ ถ้าสามารถปลูกฝัง ส่งเสริม หรือพัฒนาให้เด็กมีจิตสำนึกสาธารณะ ด้วยวิธีการต่าง ๆ จะทำให้เด็กมีจิตใจที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน อาสาดูแลรับผิดชอบสมบัติส่วนรวม มีการใช้อย่างสมบัติของส่วนรวมอย่างเห็นคุณค่า ใช้อย่างทะนุถนอม รู้จักการแบ่งปันโอกาสในการใช้ของส่วนรวมให้ผู้อื่น เมื่อเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ปัญหาที่เกิดการเอารัดเอาเปรียบคนอื่น ปัญหาการทำลายสาธารณะสมบัติต่าง ๆ จะลดลง การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน และประโยชน์พวกพ้องก็จะลดน้อยลง และจะนำมาสู่สังคมที่พัฒนาขึ้น

การพัฒนาจิตสาธารณะ
                จิตสาธารณะเป็นสิ่งที่เกิดจากการฝึกอบรม ตั้งแต่วัยเด็ก และจะพัฒนาไปเรื่อย ๆ จนถึงวัยรุ่น และจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จึงต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็ก คอยแนะนำส่งเสริมในสิ่งที่ถูกที่ควร คอยชี้แนะ และปลูกฝังจิตสาธารณะให้แก่เด็ก นอกจากนี้ เด็กยังต้องมีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบตามธรรมชาติอันเกิดขึ้นได้เอง อีกทั้งเด็กยังมีการเรียนรู้ด้านวินัยจากวัฒนธรรม โดยอาศัยการสั่งสอน ฝึกฝน จากบุคคล สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกฏธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันในสังคม การมีกิจกรรม และใช้สิ่งของร่วมกันในสังคม การพัฒนาจิตสาธารณะให้แก่เด็กในการใช้สิ่งของร่วมกัน ดูแลทรัพย์สมบัติส่วนรวม และมีน้ำใจแบ่งปันสิ่งของให้แก่กันและกัน
            จะเห็นได้ว่าการพัฒนาจิตสาธารณะเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งต้องปลูกฝังหรือเสริมสร้างไว้ตั้งแต่ในวัยเด็ก เพื่อให้เขาได้รับประสบการณ์ที่เพียงพอเป็นพื้นฐานที่สามารถนำไปพัฒนาตนเอง โดยในการปลูกฝังนั้น ควรให้เด็กได้มีความรู้ความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญของจิตสาธารณะ รวมทั้งมีการฝึกฝนให้เด็กได้ปฏิบัติจริง เพื่อให้เด็กเกิดการกระทำที่เกี่ยวกับการพัฒนาจิตสาธารณะอย่างแท้จริงจนเกิด เป็นลักษณะนิสัย และควรทำให้เหมาะสมกับวัย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามวัย และเกิดการพัฒนาตามลำดับ ซึ่งในการฝึกอบรม ปลูกฝัง หรือพัฒนาจิตสาธารณะให้แก่เด็กนั้น ควรมีครูหรือผู้ใหญ่คอยดูแลชี้แนะแนวทางที่ถูกต้อง เด็กจะได้ยึดเป็นแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง เหมาะสม

 สถาบันที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาจิตสาธารณะ
           รัญจวน อินทรกำแหง (บุญทัน ภูบาล. 2549: 19-20; อ้างอิงจาก รัญจวน อินทรกำแหง 2528: 110-119) ชี้ถึงแนวทางในการเสริมสร้างจิตสาธารณะของคนในสังคม ว่าจะต้องเกิดขึ้นได้จากการคลุกคลีอยู่กับความถูกต้อง การปลูกฝัง อบรม การฝึกปฏิบัติ การได้เห็นตัวอย่างที่ชวนให้ประทับใจ ปัจจัยเหล่านี้จะค่อย ๆ โน้มนำใจของบุคคลให้เกิดจิตสำนึกที่ถูกต้องและการสร้างจิตสาธารณะให้เกิด ขึ้นจำต้องอาศัยสถาบันทางสังคมหลายส่วนเข้ามาร่วมมือกัน อาทิ
              1.  สถาบันการศึกษา การศึกษาเป็นรากฐาน ของการพัฒนาเป็นสิ่งที่ปฏิเสธกันไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาในรูปแบบใด จำต้องเริ่มต้นด้วยการศึกษาจนมีการศึกษามากพอแก่สถานะแห่งตน ที่จะสามารถปฏิบัติงานหรือดำเนินชีวิตไปสู่ทิศทางที่ประสงค์ การกำหนดเป้าหมายของการศึกษาให้ถูกต้องโดยธรรมชาติเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ แท้จริง จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่มีผู้มีอำนาจในการบริหารการศึกษาพึงพิจารณาให้ ลึกซึ้ง ให้ถ่องแท้ ให้รอบคอบ ให้ถูกต้องด้วยทัศนะที่กว้างไกล โดยมีจุดหมายรวบยอดว่า ต้องจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนให้มีจิตสำนึกเป็นมนุษย์ที่เต็มที่
              การจัดการศึกษาควรมุ่งเน้นที่การสร้างจิตสำนึกภายใน คือ การพัฒนาจิตสำนึกภายใน คือ การพัฒนาจิตใจที่เป็นรากฐานของความเป็นมนุษย์ไม่ควรเน้นที่การพัฒนาเพื่อ ความสำเร็จในวิชาชีพที่ปราศจากพื้นฐานทางจริยธรรม เพราะอาจจะเป็นการส่งเสริมให้บุคคลออกไปประกอบวิชาชีพด้วยจิตสำนึกผิดพลาด แล้วก็ไปสร้างระบบการทำงานที่ผิดมีการเอาเปรียบผู้อื่น กอบโกย ความหลงตัวเอง ความมัวเมาวนเวียนแต่ในวังวนวัตถุ ที่อาจก่อให้เกิดการประหัตประหารกันในทุกวงการ
              การให้การศึกษาแก่เยาวชน ควรหยุดสร้างจิตสำนึกที่นิยมในวัตถุ แต่เน้นการสร้างจิตสำนึกในทางจริยธรรมให้หนักแน่นเข้มแข็งยิ่งขึ้นทุกระดับ การศึกษาตั้งแต่อนุบาลศึกษาจนถึง อุดมศึกษา เพื่อให้เป็นจิตที่สามารถช่วยสร้างระบบถูกต้อง เพื่อการดำรงอยู่ของสังคมโดยธรรม โดยเฉพาะการดำรงเน้นการฝึกอบรมให้รู้จักทำหน้าที่เพื่อหน้าที่อย่างดีที่สุด ฝีมือในทุกหน้าที่ในฐานะ ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ด้วยความสำนึกว่าทุกหน้าที่มีคุณค่าและความสำคัญเท่า เทียมกัน
              2. สถาบันศาสนา สถาบันทางศาสนาต้องเป็น ผู้นำในการสร้างจิตสาธารณะให้เกิดขึ้น ต้องนำประชาชนกลับไปสู่คำสอนของพระพุทธองค์ที่ทรงเน้นให้เห็นแก่ประโยชน์สุข ของสังคมเป็นใหญ่ ไม่บริโภคเกินความจำเป็น หรือ เพราะความอยาก มีความสันโดษ พอใจที่จะมีกินมีอยู่ มีใช้เท่าที่จำเป็นรู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เจือจานแก่ผู้อื่น มีความเมตตาอาทรต่อกัน เห็นแก่ผู้อื่นเสมือนเห็นแก่ตนเองรู้จักหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้อง  สถาบันทางศาสนาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นสถาบันที่ได้รับการเคารพบูชาแต่โบราณกาลจวบจนปัจจุบัน เป็นสถาบันที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อจิตใจของประชาชน เพราะต่างได้ยึดถือสถาบันนี้เป็นที่พึ่งทางใจมาอย่างเนิ่นนาน ฉะนั้น สถาบันทางศาสนาจึงอยู่ในฐานะที่จะช่วยสร้างสรรค์และพัฒนาจิตใจของคนในสังคม ให้หันเข้ามาอยู่ความถูกต้องตามทำนองคลองธรรม และวิธีการพัฒนาจิตสำนึกให้เกิดขึ้นได้อย่างดีที่สุด ก็คือการสอนด้วยตัวเอง อันหมายถึง การที่ผู้อยู่ในสถาบัน องค์การทางศาสนา พึงต้องประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างแก่คนในสังคมในด้านการช่วยเหลือส่วนรวม
              3. สถาบันครอบครัว ความอบอุ่นของสถาบัน ครอบครัวมีความสำคัญเป็นอันดับแรกเพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้เด็กเกิด จิตสำนึกเห็นความสำคัญของส่วนรวม ความใกล้ชิดระหว่างพ่อแม่กับลูกจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการเลี้ยงอบรม ลูก เพราะความใกล้ชิดจะเป็นสื่อที่ทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน และกลายเป็นเกิดความเห็นใจซึ่งกันและกัน สถาบันครอบครัวจึงเป็นพื้นฐานของสังคม ถ้าครอบครัวมีแต่ความคลอนแคลนสังคมก็พลอยคลอนแคลนไปด้วย และเด็กที่เติบโตจากครอบครัวที่คลอนแคลนจะมีจิตสำนึกที่คลาดเคลื่อน การสอนและการอบรมของสถาบันครอบครัวควรดำเนินการให้สอดคล้องประสานไปในจุด หมายเดียวกันกับการสอนการอบรมของสถาบันการศึกษา และสถาบันทางศาสนา เพื่อปูพื้นฐาน หรือฝังรากให้เด็กมีจิตสำนึกที่เป็นสัมมาทิฐิเสียตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อที่เด็กจะได้เป็นกำลังในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความร่มเย็นเป็นสุข
              4. สื่อมวลชน สื่อมวลชนเป็นถาบันที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งในการกระจายความคิดความรู้ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งสู่การรับรู้ของประชาชน ความร่วมมือจากสื่อมวลชนจะช่วยสร้างความเข้าใจช่วยสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้อง ให้แก่คนในสังคม เนื่องจากสื่อมวลชนนั้นมีบทบาทและอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างการรับรู้ที่จะสั่งสมกลายเป็นจิตสำนึกของคนในสังคม  การจัดการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมือง จึงเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่จะช่วยให้คนในสังคมมีจิตสาธารณะที่จะนำไปสู่การ ก่อตัวของประชาสังคม การจัดการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองนี้มิได้หมายถึงกระบวนการจัดการเรียนการ สอนในห้องเรียนสำหรับประชากรวัยเรียน หรือการจัดการศึกษาแบบเป็นทางการในรูปแบบอื่น ๆ แต่ยังหมายถึงกระบวนการเสริมสร้างการเรียนรู้ทางตรงอย่างไม่เป็นทางการใน ชีวิตประจำวัน ซึ่งจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเครือข่ายสถาบัน และกระบวนการทางสังคมทีหลากหลายและต่อเนื่องทั้งในส่วนของสถาบันการศึกษา สถาบันครอบครัว องค์การเอกชน และองค์กรประชาสังคม ฯลฯ

แนวทางในการพัฒนาจิตสาธารณะ
                มีนักการศึกษาหลาย ๆ ท่าน ได้พยายามหาวิธีการที่หลากหลายเพื่อใช้ในการพัฒนาจิตสาธารณะให้แก่เด็ก และเยาวชน  โดยวิธีการหนึ่งที่สำคัญ คือ การพัฒนาพฤติกรรม ซึ่งการพัฒนาพฤติกรรมนั้น สามารถดำเนินการได้หลากหลายวิธี ตามความเชื่อพื้นฐานของแต่ละแนวคิด การนำหลักการแห่งพฤติกรรม (Behavior Principles) มาอธิบายพัฒนาการ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลได้ ซึ่ง คาลิช (ประทีป จีนงี่. 2540 : 9 ; อ้างอิงมาจาก Kalish. 1981) ได้ให้ความหมายของหลักการแห่งพฤติกรรมไว้ว่า เป็นหลักการที่ครอบคลุมทั้งแนวคิดของทฤษฎีการเรียนรู้ การวางเงื่อนไข และแนวคิดทางจิตวิทยาต่าง ๆ ที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์เข้ามาประยุกต์ใช้ได้ ในการนำแนวคิดของการใช้หลักการแห่งพฤติกรรม มาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้น สามารถพิจารณาได้ 2 กรณี คือ
                กรณีที่ 1 กรณีที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้ ผู้ทำหน้าที่พัฒนา สามารถพัฒนาพฤติกรรมที่พฤติกรรมของบุคคลนั้นได้โดยตรง โดยใช้ทฤษฎีการเรียนรู้การวางเงื่อนไขจัดการกับพฤติกรรมโดยตรง ด้วยการคุมสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ให้ได้
                กรณีที่ 2 กรณีที่ไม่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้ จึงไม่สามารถที่จะเปลี่ยนหรือพัฒนาที่พฤติกรรมโดยตรงได้ จึงต้องจัดกระทำโดยการเปลี่ยนที่ความรู้สึก (Feeling) ซึ่งส่งผลทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนได้ หรือจัดกระทำโดยการเปลี่ยนที่ความรู้คิด (Cognitive) ซึ่งส่งผลทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงทั้งนี้ เป็นเพราะตามหลักการแห่งพฤติกรรมเชื่อว่า การรู้คิด ความรู้สึก และพฤติกรรม จะมีผลซึ่งกันละกัน
                ดังนั้น การพัฒนาพฤติกรรม อาจจัดกระทำได้ทั้งที่พฤติกรรมโดยตรง หรือจัดกระทำที่ความรู้คิด ความรู้สึก เพื่อให้พฤติกรรมเกิดการเปลี่ยนแปลงก็ได้  ในการพัฒนาพฤติกรรมมีแนวทางที่หลากหลาย แต่ในงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาจิตสาธารณะให้แก่เด็กส่วนใหญ่นั้น มักเลือกใช้การพัฒนาที่กระบวนการทางปัญญาเพื่อให้ส่งผลต่อพฤติกรรม โดยในการพัฒนาที่กระบวนการทางปัญญานั้น มีความเชื้อพื้นฐานที่ว่ากระบวนการปัญญามีผลต่อพฤติกรรม และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สามารถกระทำได้โดยการปรับเปลี่ยนกระบวนการทางปัญญา  ซึ่งสมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต  (2543 : 308 ; อ้างอิงจาก H. Kazdin : 1978) ได้เสนอหลักการพื้นฐานของแนวคิดการปรับพฤติกรรมทางปัญญาไว้ว่า เป็นกระบวนที่เปลี่ยนความคิด การตีความ การตั้งข้อสันนิษฐาน ให้ส่งผลไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมภายนอก โดยนักปรับพฤติกรรมทางปัญญามีความเชื่อดังนี้
              1.   กระบวนการทางปัญญานั้นมีผลต่อพฤติกรรม
              2.   กระบวนการทางปัญญาสามารถจัดให้มีขึ้นและเปลี่ยนแปลงได้
              3.   พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป อาจจะเป็นผลเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางปัญญา
             ดังนั้น จุดมุ่งหมายของนักปรับพฤติกรรมทางปัญญาจึงมุ่งที่การเปลี่ยนแปลงทางปัญญา เพื่อส่งผลให้พฤติกรรมภายนอกเปลี่ยนแปลง (สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต. 2543 : 308 ; อ้างอิงจากMahoney.1974) ทั้งนี้เพราะ กระบวนการทางปัญญาและพฤติกรรมมีความสัมพันธ์กัน โดยคาลิช (Kalish. 1981) ได้เสนอความสัมพันธ์ของสิ่งเร้า กระบวนการทางปัญญา พฤติกรรมและผลกรรม ว่ามีลักษณะแบบปฏิสัมพันธ์กัน (Interaction) กล่าวคือ บุคคลแสดงพฤติกรรมภายนอกด้วยการชี้แนะ (Prompting) จากกระบวนการทางปัญญา และในขณะเดียวกันพฤติกรรมภายนอกก็มีอิทธิพลต่อกระบวนการทางปัญญา ดังแสดงให้เห็นถึงภาพสรุปความสัมพันธ์ของสิ่งเร้า กระบวนการทางปัญญา พฤติกรรมและผลกรรม

แนวทางการส่งเสริมกิจกรรมจิตสาธารณะเพื่อส่วนรวม
           จิตสาธารณะเพื่อส่วนรวมสามารถกระทำได้ 2 ทาง คือ
          1.โดยการรับผิดชอบต่อตนเอง หมายถึง รับผิดชอบการกระทำของตนเอง ไม่ให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อส่วนรวม
          2. โดยการรับผิดชอบต่อสังคม หมายถึง การเข้าไปมีบทบาทในการรักษาประโยชน์ แก้ปัญหา และสร้างสรรค์สังคมส่วนรวม ซึ่งถือว่าเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม ความรับผิดชอบ คือ ความมุ่งหมาย การยอมรับการกระทำนั้น และพยายามปรับปรุงการปฏิบัติหน้าที่ให้ดียิ่งขึ้น คนที่มีความรับผิดชอบต้องเป็นคนรู้จักหน้าที่และปฏิบัติตนให้มีประสิทธิภาพ อย่างเต็มกำลังความสามารถ เช่น ความรับผิดชอบต่อตนเอง คือ ไม่กระทำชั่ว ไม่ทำให้ตนเองและบุคคลอื่นหรือสังคมเดือดร้อน เช่น ออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ตั้งใจเล่าเรียน หมั่นใฝ่หาความรู้ ประพฤติตนให้เหมาะสม ละเว้นความชั่ว มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี รู้จักปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่นมีความประหยัด ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ มีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา พึ่งตนเองได้ ความรับผิดชอบต่อสังคม คือการช่วยเหลือสังคม ไม่ทำให้ผู้อื่นหรือสังคมได้รับความเสียหาย เช่น 1. ความรับผิดชอบต่อหน้าที่พลเมือง ได้แก่ 1) ปฏิบัติตามกฎหมาย 2) รักษาทรัพย์สมบัติของสังคม      3) ช่วยเหลือผู้อื่น 4) มีความร่วมมือกับคนอื่น 2. ความรับผิดชอบต่อครอบครัว ได้แก่ 1) เคารพเชื่อฟังพ่อ แม่ ผู้ปกครอง 2) ช่วยเหลืองานบ้าน3) รักษาชื่อเสียงของครอบครัว 3. ความรับผิดชอบต่อโรงเรียน ครู อาจารย์ ได้แก่ 1) ตั้งใจเล่าเรียน2) เชื่อฟังคำสั่งสอนของ ครู อาจารย์ 3) ปฏิบัติตามระเบียบโรงเรียน 4) รักษาทรัพย์สมบัติของโรงเรียน 4. ความรับผิดชอบต่อเพื่อน ได้แก่ 1) ช่วยตักเตือนแนะนำเมื่อเพื่อนทำผิด 2) ไม่เอาเปรียบเพื่อน ช่วยเหลือเพื่อนอย่างเหมาะสม 3) ไม่ทะเลาะกัน ให้อภัยเมื่อเพื่อนทำผิด 4) เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน

การจัดกิจกรรมจิตสาธารณะในสถานศึกษา
                หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 นอกจากการเรียนรู้ใน 8 กลุ่มสาระแล้ว ในส่วนของกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนก็ถือเป็นส่งสำคัญยิ่ง ซึ่งหลักสูตร ได้จำแนกกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเป็น 3 ลักษณะ คือ 1) กิจกรรมแนะแนว  2) กิจกรรมนักเรียนและ  3) กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์  ซึ่งเป็นหน้าที่ของสถานศึกษาทุกแห่งจะต้องเน้นการสร้างเยาวชนที่มีความสมดุล ให้ผู้เรียนต้อง เป็นคนเก่ง เป็นคนดี  มีคุณลักษณะและมีสมรรถนะตามที่หลักสูตรกำหนด
                การให้นักเรียนทำกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ เป็นความมุ่งหวังที่จะสร้าง จิตสาธารณะและคุณลักษณะแฝงอื่น ๆ อีกมากมาย ผ่านกิจกรรมนี้
                ในการสร้างจิตสาธารณะ คงมีหลายแนวทาง สถานศึกษาจะต้องคิดกิจกรรม ที่มีความเป็นไปได้ ง่าย และสะดวกในการปฏิบัติ แต่ให้ผลดี”  ต่อไปนี้ อาจเป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งเพื่อการสร้างจิตสาธารณะแก่นักเรียน
                1. ส่งเสริมให้เด็กมีความสามารถในการดูแลรักษาบ้าน และรับผิดชอบงานบ้าน ถือเป็นงานสาธารณะที่ใกล้ตัวที่สุด โดยมีพฤติกรรมที่เป็นรูปธรรม เช่น  ตื่นนอนแต่เช้า  กวาดบ้าน-ถูบ้าน จัดระเบียบ/กวาดบริเวณบ้าน
                2. ส่งเสริมให้เด็กร่วมรับผิดชอบในการดูแลรักษาซอย/หมู่บ้านที่อยู่อาศัย  โดยมีพฤติกรรมที่เป็นรูปธรรม เช่น  ปลูกต้นไม้ (ไม้ดอก ไม้ประดับ) หน้าบ้านพร้อมดูแลรักษา กวาด/ทำความสะอาดถนนหรือที่สาธารณะรอบบ้านในรัศมี 5 เมตร  เป็น กรรมการฝ่ายเยาวชนเพื่อการดูแลรักษาซอย/หมู่บ้านที่อยู่อาศัย เป็นต้น (หากสถานศึกษากำหนดคุณสมบัติของเยาวชนที่เป็นรูปธรรม ดังตัวอย่างข้างต้น พร้อมผลักดัน หรือส่งเสริมให้เกิดคุณลักษณะต่าง ๆ เหล่านั้นอย่างจริงจัง ท่านเชื่อหรือไม่ว่าชุมชนจะเป็นแหล่งที่น่าอยู่ในชั่วพริบตา”  อีกทั้งเยาวชนจะเกิดคุณลักษณะอื่น ๆ ตามมา เช่น ความเสียสละเพื่อส่วนรวม  ทักษะการจัดการ ฯลฯ)
                3. จัดกิจกรรมเพื่อชี้นำทิศทางการพัฒนาหรือแก้ปัญหาให้แก่ชุมชน  อาทิ  ในช่วงฤดูกาลของการเสียภาษีเงินได้ประจำปี ครูคณิตศาสตร์มอบหมายให้นักเรียนสอบถามเงินได้ของพ่อแม่และนำใบคำนวณภาษี (ภ.ง.ด.91) มาคำนวณที่โรงเรียนแล้วมอบหมายให้นักเรียนนำกลับไปบ้านเพื่อหารือกับคุณ พ่อ-คุณแม่เพื่อชำระภาษีต่อไป  ครูวิทยาศาสตร์/ครูสังคมศึกษาให้นักเรียนร่วมปฏิบัติการรณรงค์การลดการใช้ พลังงานไฟฟ้าในบ้าน  ครูสุขศึกษาร่วมกับชุมนุมสุขภาพในโรงเรียนจัดทำจดหมายเตือนหรือปฏิบัติ กิจกรรมรณรงค์ทำลายแหล่งยุงลายเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก  โรคหวัดสายพันธุ์ใหม่ หรือโรคอื่น ๆ เป็นต้น
                4. สถานศึกษาเป็นแกนนำในการพัฒนาชุมชนในรัศมีที่เป็นที่ตั้งของสถานศึกษา เช่น รับผิดชอบดูแลในรัศมี 1 กิโลเมตร รอบสถานศึกษา โดยร่วมกับชุมชนอย่างจริงจังในการพัฒนาบรรยากาศ/สิ่งแวดล้อมของชุมชน ทั้งนี้ อาจปฏิบัติการผ่านกิจกรรมชุมนุมที่มีอยู่ในโรงเรียน  และเน้นให้นักเรียนมีบทบาทหลักในการร่วมวางแผนพัฒนา  การปฏิบัติการเช่นนี้ เสมือน การใช้ชุมชนที่เป็นที่ตั้งของสถานศึกษา เป็นห้องปฏิบัติการทดลองประสบการณ์ชีวิตต่าง ๆ แก่ผู้เรียน”  ทั้งนี้เชื่อว่า หากนักเรียนมองเห็นแนวทางการพัฒนาชุมชนที่เป็นรูปธรรม 1 ชุมชน   นักเรียนเหล่านั้นจะสามารถนำประสบการณ์ไปประยุกต์ใช้ในชุมชนที่อยู่อาศัยของ ตนเองได้ในอนาคต  อีกทั้ง โรงเรียนเองก็จะเป็นที่รักใคร่/เป็นที่พอใจของชุมชนที่เป็นที่ตั้งของ โรงเรียน เป็นโรงเรียนของชุมชนอย่างแท้จริง(อนึ่งชุมชนอาจให้การสนับสนุนงบประมาณ เพื่อการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในส่วนนี้)
                5. ประสานงานกับผู้ปกครอง หรือเครือข่ายผู้ปกครอง ให้ร่วมกันวางแผนเพื่อทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ร่วมกันเป็นวงศ์ตระกูล  โดย วางแผนเป็นรายปี พร้อมแจ้งแผนงานให้โรงเรียนทราบตั้งแต่ต้นปี การกระทำเช่นนี้ นอกจากจะเป็นการแบ่งเบาภาระของโรงเรียนในการส่งเสริมให้นักเรียนจัดทำ กิจกรรมสาธารณประโยชน์แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว และส่งเสริมให้ครอบครัวไทย มีจิตสาธารณะไปในตัวด้วย
 (ดร.สุพักตร์  พิบูลย์  http://www.thaievaluator.com .)
แนวทางการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีจิต สาธารณะคงทำได้หลายแนวทาง ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างกิจกรรมส่วนหนึ่งเท่านั้น ...ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะทำกันอย่างจริงจังเพียงใด เราเห็นคุณค่าของเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด...ถ้าทุกคนคิดว่า จิตสาธารณะเป็นเรื่องสำคัญระดับประเทศ เป็น 1 คุณลักษณะที่จะช่วยให้สังคมอยู่รอดได้....ถ้าคิดเช่นนี้  เราลองมาช่วยกัน โดยการร่วมแรงร่วมใจ ร่วมมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย  นอกจากหลักสูตรจะประสบความสำเร็จแล้ว  ประเทศไทยก็คงประสบความสำเร็จไปด้วย ...อย่างแน่นอน


















บรรณานุกรม

ชาย  โพธิสิตา.2543. จิตสำนึกต่อสาธารณะสมบัติ : ศึกษากรณีกรุงเทพมหานคร, นครปฐม : สถาบันวิจัยประชากรและสังคม. มหาวิทยาลัยมหิดล.
ดาวัลย์  เกษมเนตร. 2546. รูปแบบการพัฒนานักเรียนระดับประถมศึกษาให้มีจิตสาธารณะ : การศึกษาระยะยาว. เอกสารประกอบการประชุมวิชาการ. สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรมและ สังคม สัญจร. 2543. สำนึกไทยที่พึ่งปรารถนา. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย.
บุญทัน  ภูบาล.2549. การใช้วิดิทัศน์ละครหุ่นิดเป็นตัวแทนเพื่อพัฒนาจิตสาธารณะของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2. ปริญญานิพนธ์ (การวิจัยทางการศึกษา). มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต. 2543. ทฤษฎีและเทคนิคการปรับพฤติกรรม. จุฬาลงกรมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร.
อารี  เลิศแสนพร. 2555. จิตสาธารณะ : มิติการปลูกฝังจิตสำนึกในนักสวัสดิการสังคมรุ่นใหม่. มหาวิทยาลัยหัวเชียว.
http://www.otat.org/index.php?lay=show&ac=article&Id=5372007&Ntype=4
http://www.learners.in.th/blogs/posts/390763
http://kmforeducation.com/obec/?name=research&file=readresearch&id=242
ดร.สุพักตร์  พิบูลย์  http://www.thaievaluator.com .http://www.facebook.com